ประเทศไทยได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2558 ที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติว่าด้วยการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก จึงมีคำถามตามมาว่าขอบเขตแค่ไหนเพียงใดที่กฎหมายครอบคลุมไปถึงการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กภายใต้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไอจี หรือ ติ๊กต๊อก ทำให้คนในสังคมสามารถเป็นเจ้าของ ครอบครอง และเผยแพร่สื่อได้อย่างง่ายดาย กฎหมายอาญาที่แก้ไขดังกล่าวเพียงพอแล้วหรือไม่ต่อการนำมาปฏิบัติเพื่อเป็นการป้องการการละเมิดสิทธิเด็กในประเทศไทย
เมื่อพิจารณาตามคำนิยามของกฎหมายไทย ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) “สื่อลามกอนาจารเด็ก” หมายความว่า “วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปดปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือรูปแบบอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงวัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ ข้างต้นที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่สามารถแสดงผลให้เข้าใจความหมายได้” โดยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287/1 กำหนดโทษว่า “ ผู้ใดครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดดังกล่าวส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หลักสำคัญของของบทกำหนดโทษตามมาตรา 287/1 นั้นมีต้องมีเจตนาพิเศษ คือ “แสวงหาประโยชน์ทางเพศสำหรับตนเองหรือผู้อื่น” หากไม่มีเจตนาพิเศษดังกล่าว ก็ไม่มีความผิดตามบทกฎหมายนี้ เช่น การที่พ่อแม่ถ่ายภาพลูกของตนเองที่กำลังอาบน้ำ เป็นต้น
การมีภาพลามกอนาจารเด็กในเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งรูปภาพ คลิปวีดีโอบนระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถแปลงเป็นสื่อดิจิตอลและนำเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการดาวโหลดเก็บไว้ในระบบ และโพสต์ หรือส่งต่อบนแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น สามารถลบและดาวโหลดกลับไปกลับมาได้อย่างสะดวก อันเป็นผลทำให้รูป หรือ คลิปถูกลบไปอันถือได้ว่าไม่มีการครอบครอง ณ ขณะที่คลิป หรือ รูปดังกล่าวถูกลบไปจึงเป็นการยากที่จะพิสูจน์การมีไว้ในครอบครอง ณ ขณะนั้น อาจกล่าวได้ว่าการดาวโหลดเก็บไว้ในระบบ และโพสต์ หรือส่งต่อบนแพลตฟอร์มออนไลน์นั้นเป็นการทำซ้ำสำเนาต้นฉบับไม่ใช่การครอบครองไว้เพื่อให้ควบคุมหรือแก้ไขได้ เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายไทยมิได้มีการกำหนดความหมายของคำว่า “ครอบครอง” ไว้โดยชัดแจ้ง ดังนั้นจึงต้องอาศัยการตีความคำว่า “ครอบครอง” โดยศาลไทยเป็นหลัก แม้บทบัญญัติของกฎหมายในข้อหาดังกล่าวจะไม่ชัดเจนแต่การนำเข้าสื่อลามกอนาจาร (ทุกประเภท) ก็ยังคงมีความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้นประเทศไทยควรมีการแก้ไขบทบัญญัติให้ครอบคลุมและชัดเจน อันเป็นการป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กในประเทศไทย
¹ วิชชุตา สุขสาคร, “วิเคราะห์ความรับผิดทางอาญา ศึกษากรณีการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต,คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์,2562), หน้า 192
279/73 ถนน วิภาวดีรังสิต แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210
279/73 ถนน วิภาวดีรังสิต แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210