คำมั่นจะให้เช่านั้นไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะดังเช่นกรณีคำมั่นจะซื้อขายตามมาตรา 454 หรือ คำมั่นจะให้ทรัพย์สินตามมาตรา 526 แต่คำมั่นจะให้เช่าได้มีปรากฎขึ้นในคำพิพากษาฎีกาหลายฉบับที่วินิจฉัยว่าคำมั่นจะให้เช่านั้นมีได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องคำมั่นจะให้เช่าหลังจากได้เคยมีสัญญาเช่าระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่ากันมาแล้ว เช่น นายแดงตกลงทำสัญญาให้นายดำเช่าห้องพักเป็นระยะเวลา 3 ปี ตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท ถ้าครบกำหนดระยะเวลาเช่า นายแดงจะให้นายดำเช่าต่อเป็นเวลาอีก 3 ปี ส่วนเรื่องค่าเช่าค่อยมาตกลงกันอีกครั้งนึง สัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นจะให้เช่าหรือไม่ ต้องพิจารณาในเรื่องต่างๆ ดังนี้ คำมั่นนั้นต้องมีข้อความแน่นอนชัดเจน ในเรื่องสาระสำคัญของสัญญาเช่า โดยมีการกำหนด “อัตราค่าเช่า”และ “ระยะเวลาการให้เช่า” ไว้อย่างชัดเจน มิฉะนั้นไม่ถือเป็นคำมั่นจะให้เช่า ซึ่งผู้เช่าไม่อาจเจตนาสนองรับให้เกิดเป็นสัญญาเช่าใหม่ได้ทันที ดังนั้น สัญญาดังกล่าวไม่ถือเป็นคำมั่นจะให้เช่า เพราะไม่ได้ตกลงเรื่องรายละเอียดค่าเช่าไว้ในสัญญา กรณีนี้เมื่อถึงเวลาที่ผู้เช่าแสดงเจตนาต้องการทำสัญญาเช่าต่อไปตามข้อตกลงดังกล่าว ย่อมไม่เกิดเป็นสัญญาเช่าที่ใช้บังคับกันได้ เพราะเมื่อไม่มีคำมั่นจะให้เช่าอยู่ก่อน ย่อมไม่อาจมีคำสนองที่ถูกต้องตรงกันอาจจะก่อให้เกิดสัญญาเช่าได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 569/2525 โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจำเลยเพื่อปลูกสร้างอาคารให้ผู้อื่นเช่าช่วงมีกำหนด 15 ปี เมื่อหมดสัญญา 15 ปีถ้าโจทก์ประสงค์จะเช่าต่อไปอีกให้มาทำสัญญาใหม่ แต่สัญญาใหม่นี้ยังจะต้องตกลงกันในเรื่องอัตราค่าเช่าและกำหนดเวลาเช่า ดังนี้ เมื่อครบอายุสัญญาเช่าเดิมแล้วโจทก์เสนอขอเช่าต่ออีก แต่จำเลยไม่ตกลงตามที่โจทก์เสนอ ทั้งได้บอกเลิกสัญญาและให้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าจึงไม่มีสัญญาเช่าใหม่ระหว่างโจทก์จำเลย ข้อความตามสัญญาเช่าที่ระบุว่าเมื่อหมดสัญญาแล้ว ถ้าผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อไปอีกให้ผู้เช่ามาทำสัญญาใหม่ มิใช่คำมั่นจะให้เช่า
คำพิพากษาฎีกาที่ 3801/2555 สัญญาเช่ามีคำมั่นว่าก่อนครบสัญญาเช่า โจทก์และจำเลยจะปรับเปลี่ยนค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าในอัตราที่เป็นธรรม ดังที่ปฏิบัติมาเป็นปกติประเพณี ข้อความดังกล่าวไม่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าที่แน่นอนอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า จึงยังไม่เข้าลักษณะคำมั่นจะให้เช่า ซึ่งเมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่สนองรับคำเสนอที่โจทก์แจ้งไป ถือว่าคำเสนอของโจทก์ตกไป สัญญาเช่าจึงไม่เกิดขึ้น กรณีถือได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ของโจทก์ ที่โจทก์จะบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
แต่ถ้าหากในสัญญาเช่าได้มีการกำหนด “อัตราค่าเช่า”และ “ระยะเวลาการให้เช่า” ไว้อย่างชัดเจนแล้วก็ถือเป็นคำมั่นจะให้เช่า แต่คำมั่นจะให้เช่าต้องมีการสนองรับภายในเวลาที่กำหนด แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1.คำมั่นมีกำหนดเวลาให้สนองรับ ผู้เช่าต้องสนองรับคำมั่นภายในเวลาที่กำหนดนั้น ถ้ามิได้สนองรับภายในเวลาที่กำหนดคำมั่นย่อมสิ้นผลไป
2.คำมั่นไม่มีกำหนดเวลาสนองรับ ผู้เช่าจะต้องแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าเดิม โดยหากสัญญาเช่ามีกำหนดเวลาเช่าเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีผลให้ฟเองร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ดังนั้น ผู้เช่าต้องสนองรับคำมั่นภายในกำหนดเวลา 3 ปี ดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2540 เมื่อหนังสือสัญญาเช่ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยจึงฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 538 กำหนดเวลาเช่าที่เกินจาก 3 ปี ตามที่ตกลงกันไว้ จึงไม่มีผลบังคับกันต่อไป คำมั่นของโจทก์ที่ให้แก่จำเลยไว้ตามสัญญาเช่าข้อ 2 (ก) ที่ว่าเมื่อจำเลยเช่าครบ 7 ปียินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลยอีก 15 ปี ย่อมสิ้นผลบังคับไปด้วย ดังนั้น จึงไม่มีคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยสนองต่อไปอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2533 ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเช่าที่ดินที่ว่า “ผู้ให้เช่าสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญานี้แล้ว ผู้ให้เช่าจะให้ผู้เช่าได้เช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปีทั้งนี้โดยผู้ให้เช่าตกลงยินยอม ให้ผู้เช่าเช่าที่ดินดังกล่าวแล้วในค่าเช่าเดือนละ 800 บาทโดยผู้เช่ามิต้องจ่ายเงินเป็นก้อนเพิ่มเติม” นั้น เป็นคำมั่นของผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าตกเป็นฝ่ายลูกหนี้ที่ผู้เช่ามีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับเอาได้ ก่อนสัญญาเช่าสิ้นสุดโจทก์ผู้เช่าได้แจ้งความประสงค์ในการที่จะเช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก 10 ปี ให้แก่จำเลยผู้ให้เช่าทราบ และจำเลยได้รับแจ้งแล้วจึงต้องผูกพันตามคำมั่นของตนโดยต้องทำสัญญาให้โจทก์เช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก 10 ปี
279/73 ถนน วิภาวดีรังสิต แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210
279/73 ถนน วิภาวดีรังสิต แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210