ลักทรัพย์โดยใช้อุบาย กับ ฉ้อโกง

การลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 อาจกระทำได้โดยวิธีการหลอกลวง นอกจากวิธีการอื่น
ซึ่งท่านศาสตราจารย์พิเศษ หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ได้กล่าวโดยสรุปไว้ในหนังสือรวมคำบรรยาย (เนติบัณฑิต) ว่า “การหลอกลวงเพื่อได้มาซึ่งการยึดถือจะได้เอาทรัพย์ไปโดยสะดวก เป็นการลักทรัพย์โดยใช้อุบาย” ฉะนั้นแล้วการหลอกลวงจึงเป็นแต่เพียงวิธีการหนึ่งเพื่อความสะดวกในการเอาทรัพย์ไป อันจะเป็นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เท่านั้น ดังนั้นแล้วข้อสำคัญของการลักทรัพย์โดยใช้อุบาย คือ ผู้ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นผู้ส่งมอบการยึดถือครอบครองของตนไป (หลอกลวงเพื่อเอาการยึดถือหรือหลอกลวงเอาการครอบครอง) แต่ก็ยังไม่ถึงขนาดที่ผู้ถูกหลอกจะทิ้งการหวงกันไป แต่อย่างไรก็ตามนอกจากการหลอกลวงเพื่อความสะดวกในการเอาทรัพย์แล้ว ก็ยังมีการหลอกลวงอีกชนิดหนึ่งที่ผู้หลอกลวงเมื่อได้หลอกลวงแล้วเป็นเหตุให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงเลยทีเดียว โดยผู้ถูกหลอกลวงยินยอมส่งมอบการครอบครอง
โดยมีเจตนาถึงขึ้นโอนกรรมสิทธิหรือความเป็นเจ้าของให้กระทำผู้หลอกลวงเลยทีเดียว ซึ่งการกระทำลักษณะนี้ประมวลกฎหมายอาญา ให้ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ดังนั้นจึงขอให้พิจารณาความแตกต่างของสองมาตรานี้

มาตรา 334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท

มาตรา 341  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

การแยกข้อแตกต่างระหว่าการลักทรัพย์โดยใช้อุบายกับฉ้อโกงข้อสำคัญคือจะต้องพิจารณาว่า ผู้ถูกหลอกลวงส่งมอบทรัพย์นั้นให้แก่ผู้หลอกหลวงในลักษณะใด กล่าวคือ ส่งมอบเพียงการยึดถือครอบครองเท่านั้น หรือ ส่งมอบในลักษณะโอนกรรมสิทธิ์ทีเดียว สมควรพิจารณาจากคำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้เพื่อประกอบการทำความเข้าใจ คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1704/2530 “จำเลยขอดูนาฬิกาที่ผู้เสียหายใส่อยู่ เมื่อผู้เสียหายถอดให้จำเลย จำเลยรับนาฬิกามาจากผู้เสียหายแล้ววิ่งหนี การกระทำของจำเลยไม่เป็นการใช้กิริยาฉกฉวยเอาทรัพย์ผู้เสียหายไป แต่เป็นการใช้อุบายให้ผู้เสียหายถอดนาฬิกาจากข้อมือส่งให้จำเลย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์แต่เป็นการลักทรัพย์ด้วยการใช้อุบาย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334” คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542 (ป) “การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดย พลการ โดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง การที่จำเลยเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา 1,785 บาทออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทนแล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายจึงมิใช่เอาโคมไฟตั้งโต๊ะไปโดยพลการโดยทุจริต อันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลยโดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2553 “จำเลยเอาสุราต่างประเทศของกลางใส่ไว้ในลังน้ำปลาแล้วใช้สกอตเทปปิดลังไว้ โดยนำลังน้ำปลาอีกใบหนึ่งมาวางทับ จากนั้นจึงนำไปชำระเงินนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรกแล้ว การที่จำเลยนำลังน้ำปลาซึ่งมีสุราต่างประเทศซุกซ่อนอยู่ภายในไปชำระราคาเท่ากับราคาน้ำปลาจนพนักงานแคชเชียร์มอบลังน้ำปลาทั้งสองลังให้จำเลยไป  เป็นเพียงกลอุบายเพื่อให้บรรลุผล คือการเอาสุราต่างประเทศของกลางของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเท่านั้น พนักงานแคชเชียร์ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายมิได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองสุราต่างประเทศให้แก่จำเลย  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่” 

¹อ้างอิง

  • รวมคำบรรยาย ภาคหนึ่ง สมัยที่ 75 ปีการศึกษา 2565 เล่มที่ 12 หน้า 90
  • หลักและคำพิพากษา : กฎหมายอาญา , สหรัฐ กิติ ศุภการ , พิมพ์ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2563 หน้า 597
  • อัยการนิเทศ (หนังสือราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด) เล่มที่ 81 พุทธศักราช 2559 , หมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกา 16161 – 16162/2557 , ฐิติมา อภิวันท์ลือชา (แซ่เตี้ย) วีรชน อังศุระษี